สำนักงานบริการวิชาการและสหกิจศึกษา 
(Office of Academic Service and 
Co-operative Education)

ประวัติ

    วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการจัดให้มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ประสานการดำเนินงานด้านการบริการวิชาการและสหกิจศึกษา จึงได้จัดตั้ง "ศูนย์บริการวิชาการและสหกิจศึกษา" เมื่อปี พศ.2548 ภายใต้โครงสร้างการบริหารใหม่ตามข้อบังคับวิทยาลัย ว่าด้วยการแบ่งส่วนงาน พศ.2548 ซึ่งประกอบด้วย สำนักวิชา ศูนย์/สถาบัน และสำนักงาน โดยมีสภาวิทยาลัยเป็นผู้บริหารสูงสุด และมีผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสหกิจศึกษา เป็นผู้บริหารภายในหน่วยงาน ภายใต้การกำกับดูแลของรองอธิการฝ่ายวิชาการ ซึ่งต่อมาในปี พศ.2552 ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่และเปลี่ยนสถานะของหน่วยงานจากเดิมเป็น "สำนักงานบริการวิชาการและสหกิจศึกษา"

    ปัจจุบันสำนักงานบริการวิชาการและสหกิจศึกษา เป็นหน่วยงานกลาง ดำเนินงานในลักษณะรวมบริการประสานกิจการ โดยมีการดำเนินงานของหน่วยงานตามภารกิจหลัก 2 งาน ได้แก่

    1. งานบริการวิชาการ เป็นให้บริการทางวิชาการในการรูปแบบการให้ความรู้และฝึกอบรมตามความต้องการของชุมชน การให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ชุมชนและองค์กรในท้องถิ่น รวมถึงการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

    2. งานสหกิจศึกษา ทำการพัฒนารูปแบบและวิธีการดำเนินงานสหกิจศึกษาให้เหมาะสม เป็นหน่วยงานประสานงานสหกิจศึกษาระหว่างองค์กรผู้ใช้บัณฑิตคณาจารย์ และนักศึกษา เพื่อร่วมผลิตบัณฑิตที่มีความสมบูรณ์พร้อม มีคุณภาพ คุณลักษณะ และสมรรถนะที่ตรงตามความต้องการขององค์กรผู้ใช้บัณฑิตทั้งภาครัฐและเอกชน

ปรัชญา

    บริการวิชาการให้ชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมนักศึกษาสู่การพัฒนาทักษะวิชาชีพ 

ปณิธาน  

    เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ด้วยบริการวิชาการ เสริมสร้างทักษะการปฏิบัติงาน ด้วยสหกิจศึกษา

วิสัยทัศน์ 

    เป็นศูนย์กลางการให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน และเป็นสถานศึกษาดีเด่นของภาคใต้ ด้านการดำเนินงานสหกิจศึกษา

พันธกิจ

    1. มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการบริการทางวิชาการที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน
    2. มุ่งเสริมสร้างและพัฒนาสหกิจศึกษา ไปสู่การพัฒนาทักษะทางวิชาชีพของนักศึกษา 

วัตถุประสงค์

    1. เพื่อให้บริการวิชาการแก่ชุมชนและสังคมท้องถิ่น ในรูปแบบการให้ความรู้ฝึกอบรมวิทยาการใหม่ ๆ และการให้คำปรึกษาและแนะนำแก่ชุมชนและองค์กรในท้องถิ่น
    2. สร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ เอกชน เพื่อเพิ่มโอกาส ขยายงานบริการวิชาการให้ตรงตามความต้องการของชุมชน และเป็นที่พึ่งทางวิชาการแก่ชุมชนท้องถิ่น
    3. เพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าของวิทยาลัย ให้เป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพ รวมถึงการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มในกิจการต่าง ๆ ของท้องถิ่น
    4. เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความสมบูรณ์พร้อม มีคุณภาพ คุณลักษณะและสมรรถนะที่ตรงตามความต้องการขององค์กรผู้ใช้บัณฑิตทั้งภาครัฐและเอกชน



สหกิจศึกษาคืออะไร
    ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น ภาวการณ์การแข่งขันในตลาดแรงงานจึงมีค่อนข้างสูง บัณฑิตที่ตลาดแรงงานต้องการจะต้องมีคุณลักษณะและทักษะต่าง ๆ หลายประการ อาทิ สามารถวางใจได้ในการปฏิบัติงาน สามารถพัฒนาตนเอง สามารถจัดการและวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ สามารถเรียนรู้และตัดสินใจได้ด้วยตนเอง และสามารถแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานได้ นอกจากนี้ยังต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความคิดริเริ่ม ระเบียบวินัย และมีจริยธรรมและศีลธรรมอันดี นิสิตสามารถพัฒนาคุณลักษณะและทักษะดังกล่าวเหล่านี้ได้ดีเมื่อมีโอกาสรับผิดชอบและปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ

สหกิจศึกษา (Cooperative Education)
    เป็นการจัดการศึกษาที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างสถานประกอบการและมหาวิทยาลัย โดยเน้นให้นักศึกษาได้รับผิดชอบและปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการเสมือนเป็นพนักงานคนหนึ่งในสถานประกอบการที่ร่วมมือกันนั้น นักศึกษาสหกิจศึกษาสามารถเรียนรู้ประสบการณ์จริงจากการไปปฏิบัติงาน ทำให้ได้รับทราบด้วยตนเองว่าการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบนั้น จำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะใดบ้าง อันจะเป็นแนวทางในการปรับแผนการศึกษาของตนต่อไป นิสิตสหกิจศึกษายังจะได้มีโอกาสพัฒนาตนเองในการอยู่ร่วมกับสังคม การปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อผู้ร่วมงาน ผู้บริหาร และผู้ใช้บริการ ตลอดจนได้มีโอกาสเรียนรู้ความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่ใช้ในการปฏิบัติงาน ความรู้เหล่านี้จะนำมาซึ่งการพัฒนาตนเองของนักศึกษาก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาเพื่อเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพสูงต่อไป นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษาในโครงการสหกิจศึกษา
ยังจะก่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการอย่างต่อเนื่องในด้านอื่น ๆ นอกเหนือจากความร่วมมือด้านการผลิตบัณฑิตอีกด้วย อาทิ ความร่วมมือด้านการวิจัยพื้นฐานหรือการวิจัยเชิงพัฒนา เป็นต้น

    นักศึกษาสหกิจศึกษาจะเข้าปฏิบัติงานในสถานประกอบการในลักษณะพนักงานชั่วคราวที่จะต้องลงมือปฏิบัติงานจริง ประสบการณ์ในการปฏิบัติงานในสถานประกอบการนี้จะเป็นประสบการณ์ที่นักศึกษาไม่สามารถเรียนรู้ได้จากภายในห้องเรียน นักศึกษาจะได้มีโอกาสพัฒนาตนเองทางด้านความคิด การสังเกต การตัดสินใจ การคิดวิเคราะห์ และการประเมินผล
อย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งการพัฒนา ตนเองด้านการจัดเตรียมและนำเสนอรายงานจากประสบการณ์การทำงานที่สะท้อนการผสมผสาน ระหว่างทฤษฎีและการปฏิบัติเข้าด้วยกัน
รวมทั้งการมองเห็นแนวทางด้านงานอาชีพของตนเองได้อย่างชัดเจนขึ้น

    ด้วยระบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานภาคทฤษฎีเข้ากับภาคปฏิบัติเช่นนี้ จะส่งผลให้นักศึกษาพัฒนาตนเองเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้นและกระบวนการ สหกิจศึกษาจะทำให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างสถานประกอบการกับสถานศึกษา ส่งผลให้สถานศึกษาสามารถเห็นแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรให้ดีและเหมาะสมกับโลกของการทำงานได้มากขึ้น ส่วนสถานประกอบการก็มีแรงงานนักศึกษาร่วมปฏิบัติงานได้ตลอดทั้งปี อันจะนำประโยชน์ให้เกิดแก่ทั้งสองฝ่ายรวมทั้งแก่สังคม และประเทศชาติโดยรวมอีกด้วย

วัตถุประสงค์ของสหกิจศึกษา
    1. เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ทางด้านอาชีพและการพัฒนาตนเองแก่นักศึกษา ในรูปแบบของการปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพในสถานการณ์จริง
    2. เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตระหว่างสถานศึกษากับองค์กรภาครัฐและเอกชน
    3. เพื่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของนักศึกษาในการประกอบอาชีพและของสถานประกอบการในการพัฒนางาน
    4. เพื่อส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการอันเป็นพื้นฐานด้านการพัฒนาวิชาการและด้านอื่น ๆ ต่อไป

คุณสมบัติ
นักศึกษาสหกิจศึกษามี ดังนี้

    1. เป็นนักศึกษาที่มีรายวิชาสหกิจศึกษา 
    2. มีผลการเรียนเป็นไปตามที่คณะ/ภาควิชา/สาขาวิชา และสถานประกอบการกำหนด
    3. มีความประพฤติเรียบร้อย และไม่เคยต้องโทษวินัยนิสิต
    4. ไม่มีปัญหาด้านสุขภาพที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ
    5. คุณสมบัติอื่นๆ ตามที่สถานประกอบการกำหนด

หน้าที่ของนักศึกษาสหกิจศึกษา 
    1. ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสหกิจศึกษาและยื่นใบสมัครเข้าร่วมโครงการสหกิจศึกษา
    2. ผ่านการปฐมนิเทศและฝึกอบรมครบถ้วนตามที่กำหนด
    3. ติดตามข่าวสารการจัดหางานและประสานกับคณะกรรมการที่ปรึกษาสหกิจศึกษาประจำสาขาวิชาที่นักศึกษาสังกัดหรือสำนักงานบริการวิชาการและสหกิจศึกษาตลอดเวลา
    4. ติดต่อส่งเอกสารที่กำหนดและให้ข่าวสารการปฏิบัติงานของตนกับสาขาวิชาหรือสำนักงานบริการวิชาการและสหกิจศึกษาตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการ
    5. ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ
    6. ถ้ามีปัญหาในการปฏิบัติงานจะต้องรีบติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษาสหกิจศึกษาหรือสำนักงานบริการวิชาการและสหกิจศึกษาทันที

ประโยชน์ที่นักศึกษาจะได้รับ
    1. ได้รับทักษะและประสบการณ์วิชาชีพตามหลักสูตรที่เรียนเพิ่มเติม นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน
    2. เข้าใจกระบวนการ และวิธีการทำงานในสาขาวิชาชีพของตน ทำให้เข้าใจในเนื้อหาวิชามากขึ้น
    3. เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความรับผิดชอบและมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น
    4. สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพในการทำงานและมีโอกาสได้รับการคัดเลือกเข้าทำงานมากกว่าผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ทำงานมาก่อน
    5. ได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติงาน (ขึ้นอยู่กับนโยบายของสถานประกอบการนั้น ๆ)

ประโยชน์ที่สถานศึกษาจะได้รับ
    1. เกิดการร่วมมือทางวิชาการและความสัมพันธ์ที่ดีกับสถานประกอบการ
    2. ได้รับข้อมูลย้อนกลับมาปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอน
    3. ช่วยให้สถานศึกษาได้รับการยอมรับจากตลาดแรงงาน

ประโยชน์ที่สถานประกอบการจะได้รับ
    1. เป็นการสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดให้กับประเทศ
    2.
 เป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับองค์กรในด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาของชาติ
    3.
 เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือทางวิชาการและความสัมพันธ์ที่ดีกับมหาวิทยาลัย
ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่ความร่วมมือด้านอื่น ๆ เช่น ด้านการวิจัยพื้นฐานเพื่อหาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและมีประโยชน์ต่อสถานประกอบการ หรือการวิจัยเชิงพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อสถานประกอบการ
    4. 
สถานประกอบการได้นักศึกษาที่มีความกระตือรือร้นและมีความพร้อมทางวิชาการระดับหนึ่งมาช่วยปฏิบัติงาน
    5.
 พนักงานประจำของสถานประกอบการมีเวลามากขึ้นที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่อื่นที่มีความสำคัญมากกว่า
    6.
 เป็นวิธีการคัดเลือกพนักงานประจำของสถานประกอบการวิธีหนึ่งที่สถานประกอบการจะได้พนักงานที่รู้จักมาก่อน ทั้งด้านความรู้ความสามารถ บุคลิกภาพ และอุปนิสัย และจะได้พนักงานที่ไม่จำเป็นต้องทดลองงานก่อนเนื่องจากเคยปฏิบัติงานมาแล้วในช่วงปฏิบัติงานสหกิจศึกษา



"เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ด้วยบริการวิชาการ
สร้างเสริมทักษะการปฏิบัติงาน ด้วยสหกิจศึกษา "